สำนักงานเลขานุการ

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สำนักงานเลขานุการ

ประวัติความเป็นมา

          ประวัติความเป็นมา สำนักงานเลขานุการคณะศึกษาศาสตร์เป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชา ทำหน้าที่ในการบริหารงานธุรการ การให้บริการการศึกษาและบริการการเรียนการสอน การบริหารและการบริการทั่วไป สำนักงานเลขานุการคณะมีภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบในฐานะเป็นหน่วยปฏิบัติงานกลางในด้านการให้บริการแก่ทุกภาควิชา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในทางปฏิบัติสำนักงานเลขานุการคณะจะเป็นหน่วยงานหน่วยแรกของคณะในการรับข้อมูลข่าวสารเพื่อการปฏิบัติงานจากทุกแหล่ง ยกเว้นกรณีการติดต่อประสานงานโดยตรงถึงภาควิชาและหน่วยงาน จากนั้นจะดำเนินการประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในคณะ รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงาน แล้วแจ้งกลับไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเฉพาะเรื่อง สำนักงานเลขานุการคณะจึงเป็นแกนกลางในการประสานงานดำเนินการของคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งในระดับภาควิชา หน่วยงานระดับกอง ระดับมหาวิทยาลัย รวมทั้งหน่วยงานภายนอก และคณะกรรมการชุดต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานโดยส่วนรวมของคณะศึกษาศาสตร์บรรลุตามวัตถุประสงค์ ขอบเขตงานของสำนักงานเลขานุการคณะยังครอบคลุมงานอื่นที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของภาควิชาและหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดโดยเฉพาะ

 

วิสัยทัศน์

บุคลากรเป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณ บริการด้วยใจทันสมัยด้วยเทคโนโลยี

ปรัชญา / ปณิธาน

สำนักงานเลขานุการคณะจะสนับสนุนด้านการบริหาร และการจัดการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ภารกิจ

  • สนับสนุนการจัดการเรียนการสอน งานวิจัย บริการวิชาการ
  • บริหารจัดการภารกิจ 4 งานหลักแบบธรรมาภิบาล
  • พัฒนาบุคลากรให้มีสมรรถนะสูงสุด

          

          สำนักงานเลขานุการคณะ มีหัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะเป็นหัวหน้า กำกับ ดูแลรับผิดชอบงานบริหารและงานธุรการทั่วไป ภายใต้การบังคับบัญชาของคณบดี ปัจจุบันสำนักงานเลขานุการคณะมีโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการและหน้าที่รับผิดชอบ 4 งาน ดังนี้

1. งานบริหารและธุรการ

  • หน่วยสารบรรณ
  • หน่วยการเจ้าหน้าที่
  • หน่วยอาคารสถานที่และยานพาหนะ

2. งานคลังและพัสดุ

  • หน่วยการเงินและบัญชี
  • หน่วยพัสดุ

3. งานบริการการศึกษา

  • หน่วยทะเบียนและประเมินผลการศึกษา
  • หน่วยโสตทัศนศึกษา
  • ศูนย์วัสดุการศึกษา

4. งานนโยบายและแผน

  • หน่วยแผนและงบประมาณ
  • หน่วยสารสนเทศและประชาสัมพันธ์
  • หน่วยประกันคุณภาพ

 

          นอกเหนือจากลักษณะงานตามโครงสร้างดังกล่าว ในทางปฏิบัติ สำนักงานเลขานุการคณะเป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติภารกิจรองรับนโยบายและการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดต่างๆ ของคณะ ในด้านการติดต่อประสานงาน งานพิมพ์และผลิตเอกสาร งานประชาสัมพันธ์ งานบริการวิชาการและงานบริการอื่นๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะในงานของคณะกรรมการประจำคณะ งานฝึกประสบการณ์วิชาชีพ รองคณบดีฝ่ายต่างๆ ซึ่งมีคณะกรรมการและอนุกรรมการรับผิดชอบด้านวิชาการ หลักสูตร งานพัฒนาการจัดการเรียนการสอน งานส่งเสริมและเผยแพร่ งานบริการวิชาการของคณะ งานส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนา งานวิจัยด้านการเรียนการสอนและแผนงานวิจัยแม่บทของคณะศึกษาศาสตร์ งานประกันคุณภาพการศึกษา งานกิจการนิสิต ซึ่งรับผิดชอบงานส่งเสริมกิจกรรมนิสิต งานแนะแนวการศึกษา งานทุนการศึกษา งานสโมสรนิสิต ศูนย์และหน่วยปฏิบัติการในระดับคณะฯ อีก 8 หน่วยงาน สำนักงานเลขานุการคณะจัดบุคลากรปฏิบัติงานสนับสนุนภารกิจเหล่านี้ โดยปฏิบัติงานส่วนกลางและส่วนหนึ่งอยู่ประจำภาควิชาต่างๆ เพื่อทำหน้าที่ด้านบริการการเรียนการสอนและประสานงานธุรการทั่วๆ ไปของภาควิชา

 

โครงสร้างสำนักงาน

วัตถุประสงค์ของสำนักงานเลขานุการคณะ

  • เพื่อสนับสนุน ประสานงาน อำนวยความสะดวกในการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ตามวัตถุประสงค์ของคณะศึกษาศาสตร์
  • เพื่อดำเนินงานด้านงานบริหารและธุรการ งานบริการการศึกษา งานคลังและพัสดุ งานนโยบายและแผน ให้มีความคล่องตัว สะดวก รวดเร็วในการบริการ
  • เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสำนักงานเลขานุการคณะศึกษาศาสตร์ ให้มีคุณภาพเสริมรับกับภารกิจของคณะศึกษาศาสตร์

ภารกิจหลักของสำนักงานเลขานุการคณะ

สำนักงานเลขานุการคณะ แบ่งส่วนราชการเป็น 4 งานหลัก

  • งานบริหารและธุรการ
  • งานบริการการศึกษา
  • งานคลังและพัสดุ
  • งานนโยบายและแผน

แผนกลยุทธ์สำนักงานเลขานุการคณะศึกษาศาสตร์ พ.ศ. 2560- 2563

วิสัยทัศน์ “บุคลากรเป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณ บริการด้วยใจ ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี”

วัตถุประสงค์
               1. เพื่อสนับสนุน ประสานงาน อำนวยความสะดวกในการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
               ตามวัตถุประสงค์ของคณะศึกษาศาสตร์
               2. เพื่อดำเนินงานด้านงานบริหารและธุรการ งานบริการการศึกษา งานคลังและพัสดุ งานนโยบายและแผน ให้มีความคล่องตัว สะดวก รวดเร็วในการบริการ
               3. เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในสำนักงานเลขานุการคณะศึกษาศาสตร์ ให้มีคุณภาพเสริมรับกับภารกิจของคณะศึกษาศาสตร์

กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนาบุคลากรสายสนับสนุนและช่วยวิชาการเพื่อการเป็นมืออาชีพ มีจรรยาบรรณ และบริการด้วยใจ
มาตรการ
               1. ส่งเสริมการพัฒนาทักษะและสมรรถนะของบุคลากรสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ ทุกระดับให้มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น
               2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรสายสนับสนุนและช่วยวิชาการ เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการในสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น
               3. สนับสนุนให้บุคลากรได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะตรงตามสายงาน
               4. สร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้ เน้นการมีส่วมร่วมทุกภาคส่วน ส่งเสริมและยกย่องแบบอย่างที่ดี
               5. ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การบริการที่ดีขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการ

ตัวชี้วัด
               1. จำนวนบุคลากรสายสนับสนุนที่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้นได้
               2. ร้อยละจำนวนบุคลากรที่ได้รับการเสริมสร้างสมรรถนะหลัก
               3. จำนวนกิจกรรมการปรับปรุงงานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
               4. คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจของผู้รับบริการ
               5. คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจในการให้บริการแก่นิสิต

กลยุทธ์ที่ 2 การปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการตามพันธกิจให้มีประสิทธิภาพ
มาตรการ
               1. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการดำเนินงานให้มีความเชื่อมโยงครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน ตอบสนองต่อผู้ใช้บริการ
               2. ปรับปรุงอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก
ตัวชี้วัด
               1. จำนวนโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ
               2. ระดับความพึงพอใจเฉลี่ยของผู้ใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Website/Wifi)
               3. คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจเฉลี่ยของผู้ใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ

กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนาระบบการเงินและงบประมาณ
มาตรการ
               1. จัดทำแผนยกลยุทธ์ทางการเงินของคณะศึกษาศาสตร์
               2. บริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และแสวงหารายได้เพื่อการพึ่งพาตนเอง รวมถึงการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงาน
               3. ปรับปรุงขั้นตอนการปฏิบัติงานทางการเงินและงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ
ตัวชี้วัด
               1. จำนวนรายได้ต่อปี
               2. จำนวนกิจกรรมที่ได้ปรับปรุงให้เอื้อต่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์ที่ 4 การพัฒนาด้านการประกันคุณภาพ
มาตรการ
               1. จัดทำระบบสารสนเทศเพื่อการประกันคุณภาพที่ครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ
               2. ดำเนินงานตามระบบประกันคุณภาพเพื่อให้การปฏิบัติงานมีคุณภาพ และประสิทธิภาพสูงสุด
ตัวชี้วัด
               1. จำนวนระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการประกันคุณภาพ

กลยุทธ์ที่ 5 ปรับปรุงองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งความสุข
มาตรการ
               1. พัฒนากายภาพให้สวยงาม สร้างบรรยากาศให้เป็นสีเขียวและบรรยากาศที่ดี
               2. สนับสนุนให้บุคลากรเสริมสร้างสุขภาพที่ดี
ตัวชี้วัด
               1. ระดับความพึงพอใจเฉลี่ยของบุคลากรและนิสิตที่มีต่อสุนทรียภาพของคณะ
               2. ระดับความพึงพอใจเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมโครงการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมทั้งหมด
               3. ระดับคะแนนดัชนีความสุขของบุคลากร


ดาวน์โหลด แผนกลยุทธ์สำนักงานเลขานุการคณะศึกษาศาสตร์ พ.ศ. 2560 - 2563