คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Faculty Of Education Kasetsart University

คุณสมบัติและเงื่อนไขการเข้าศึกษา ระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รายละเอียดการเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ระดับปริญญาตรี

คุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัครเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระดับปริญญาตรี โดยวิธีรับตรง

1.เป็นผู้ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

2.เป็นผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเป็นผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 หรือประกาศนียบัตรอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า สำหรับผู้สมัครที่จบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน สายสามัญ ต้องมีคุณสมบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการดำเนินงานการศึกษานอกโรงเรียน สายสามัญศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544

3.เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ตามที่ คณะ/สาขาวิชา กำหนด

4.เป็นผู้ไม่มีโรคติดต่อร้ายแรง โรคที่สังคมรังเกียจ หรือโรคสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา

5.เป็นผู้ที่มีความประพฤติเรียบร้อย และรับรองต่อมหาวิทยาลัยได้ว่าจะตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเต็มความสามารถ และจะปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่แล้ว หรือที่จะมีต่อไปโดยเคร่งครัดทุกประการ



* หากปรากฏในภายหลังว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติทั่วไปตามข้อ 1 ถึง 5 ข้อใดข้อหนึ่ง หรือหากตรวจพบว่าเอกสารที่ใช้ในการสมัครคัดเลือกเป็นเอกสารเท็จ จะถูกตัดสิทธิ์ในการคัดเลือกครั้งนี้ และหากได้รับการส่งชื่อเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วจะถูกถอนสถานภาพการเป็นนิสิตทันที
เงื่อนไขการเข้าศึกษาในโครงการรับตรง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

1. ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าศึกษาตามโครงการรับตรงจะต้องมารายงานตัวและมอบตัว เพื่อแสดงความจำนงเข้าศึกษาตามวัน เวลา ที่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำหนด หากไม่มารายงานตัวตามวันและเวลาที่กำหนดจะถือว่าสละสิทธิ์การเข้าศึกษาในโครงการรับตรง และขอสงวนสิทธิ์ในการคืนเงินค่าธรรมเนียมทุกกรณี

2. ผู้ที่มารายงานตัวและยืนยันสิทธิ์ในโครงการรับตรง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะแจ้งรายชื่อผู้มารายงานตัวให้สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) เพื่อประกาศให้นักเรียนยืนยันสิทธิ์ในระบบเคลียริงเฮาส์ (Clearinghouse) รวมทั้งดำเนินการตัดสิทธิ์ในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (Admissions) มหาวิทยาลัยขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่พิจารณากรณียกเลิกการยืนยันสิทธิ์ดังกล่าว

3. หากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาในโครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษามากกว่า 1 สาขาวิชา จะถูกระงับสิทธิ์ในการเข้าศึกษาในโครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมิต้องบอกกล่าวหรือแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

4. การย้ายคณะของนิสิตที่เข้าศึกษาในโครงการรับตรงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาขั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พุทธศักราช 2548 และโดยความเห็นชอบของอธิการบดีเป็นรายกรณี

5. เพื่อประโยชน์ต่อทางราชการในการบริหารจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาดำเนินการตามประกาศนี้ ตามความเหมาะสมและสมควร ผลการพิจารณาให้ถือเป็นที่สิ้นสุด

ระบบกลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (Central University Admissions System : CUAS) เป็นระบบที่ใช้ในการคัดเลือกบุคคลที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า เข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งดำเนินการโดยสมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (สอท.) โดยการรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง (Admissions) จะพิจารณาจากองค์ประกอบ ดังนี้

1. ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (GPAX)

2. ผลการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test : O-NET) 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้

3. ผลการสอบแบบทดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test : GAT)

4. ผลการสอบแบบทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (Professional and Academic Aptitude Test : PAT)

5. ผลการสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย (มหาวิทยาลัย/สถาบัน จะทำการสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย เพื่อหาข้อมูลประกอบการพิจารณาความพร้อม และความเหมาะสมเป็นขั้นสุดท้ายก่อนการรับเข้าศึกษา)


สมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย คลิกที่นี่!

รับตรง มก. (KU Admission)

ในปีการศึกษา 2557 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนโยบายที่จะรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในระบบรับตรงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU Admission) โดยรับรวมทุกวิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตบางเขน วิทยาเขตกำแพงแสน วิทยาเขตศรีราชา และวิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,854 คน

ระบบรับตรงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU Admission) ดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกโดยส่วนกลางของมหาวิทยาลัย ผู้สมัครสามารถเลือกสมัครได้ 4 อันดับคณะ/สาขาวิชา และเลือกสมัครได้ทุกวิทยาเขต โดยเกณฑ์การคัดเลือกจะใช้ผลคะแนนทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา และผลคะแนนทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) ซึ่งผู้สมัครต้องสมัครสอบและสอบวิชาดังกล่าวกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.)

อ่านรายละเอียดโครงการรับตรง คลิกที่นี่

หลักสูตรที่เปิดสอนระดับปริญญาตรี